วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

1. หนังสือธรรมะเล่มแรกของพระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี "หนังสือธรรมคู่แข่งขัน"


กิเลสกับธรรมเป็นคู่แข่งขันกัน

          การปฏิบัติธรรมให้ได้ผลเท่าที่ควร พึงทราบจริตนิสัยของตนก่อนว่า หนักไปทางใด เพราะกิเลสกับธรรมเป็นคู่แข่งขันกันเหมือนนายแพทย์ผู้ฉลาดก่อนวางยาคนไข้ก็ตรวจดูสมุฎฐานพร้อมทั้งอาการของโรค แล้วค่อยวางยาให้ตรงกับสมุฎฐานของโรค ฉะนั้นเช่น จริตหนักไปในทางเบียดเบียนโหดร้ายต่อผู้อื่น ควรเจริญเมตตาสงสารเพื่อเป็นเครื่องลบล้างกัน ความเบียดเบียนโหดร้ายเมื่อถูกอบรมด้วยธรรมคือความเมตตาแล้ว จะกำเริบรุนแรงไปไม่ได้นับวันที่จะอ่อนโยนสงสารต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ด้วยกันโดยถ่ายเดียว
          อนึ่ง สิ่งใดเป็นเพื่อความขัดขวางตัดรอนความดี และขัดขวางจิตใจไม่ให้ความสะดวกเพื่อประพฤติความดี เมื่ออนุโลมตามแล้วยิ่งกำเริบรังควานใหญ่ เหมือนคนไข้ชอบอาหารแสลงแก่โรค เมื่อรับประทานลงไปยิ่งยังโรคให้กำเริบรุนแรงฉะนั้น สิ่งนั้นเรียกว่ามาร มารนี้ท่านจำแนกไว้มี ๕ คือ กิเลสมาร ขันธมาร มัจจุมาร เทวปุตตมาร และอภิสังขารมาร มารเหล่านี้ท่านก็ให้นามว่าธรรมเหมือนกัน
แต่เป็นธรรมฝ่ายชั่ว และเป็นคู่แข่งขันกันกับธรรมฝ่ายดี ผู้ปฏิบัติเพื่อธรรมฝ่ายดี จึงต้องรบกับศตรูเหล่านี้ให้ได้ชัยชนะ



หนังสือ "ธรรมคู่แข่งขัน"  ที่พิมพ์ครั้งแรกที่  โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ โดยนายชวน ศรสงคราม ผู้พิมพ์ 
 








หนังสือธรรมคู่แข่งขัน

          ก่อนอื่นบอกกล่าวเรื่อง "เจ้า" (ประธาน) ของโลกและธรรมพอเป็นแนวทางการอธิบายธรรม
ในแง่ต่าง ๆ
          คำว่า "เจ้า" คือเป็นใหญ่เป็นประธานของสิ่งที่มีวิญญาณ และหาวิญญาณมิได้ และเป็นเจ้าแห่งสมบัติทั้งทางโลกและทางธรรม ถ้าเป็นเทวดาก็เป็นหัวหน้าแห่งเทวดาทั้งหลาย ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นหัวหน้าคือเจ้านายโตของประชาราษฎร เรียกว่า พระเจ้าแผ่นดิน ผู้เป็นองค์ประมุขของประเทศนั้น ๆ บ้าง ของอำเภอนั้น ๆ บ้าง ของตำบลหมู่บ้าน และครอบครัวนั้น ๆ บ้าง
          ถ้าเป็นฝ่ายศาสนาก็เป็นเจ้าแห่งสงฆ์ คือเป็นศาสดาของสงฆ์บ้าง เป็นสังฆราชแห่งสงฆ์บ้าง เป็นสังฆนายก สังฆมนตรี เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด อำเภอ ตำบล และเจ้าอาวาส และยังมีรองเจ้าคณะนั้น ๆ ตามลำดับชั้นลงมา
          นี้จัดเป็นฝ่ายโลกฝ่ายธรรม และผู้เป็นประธานแผนกหนึ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ จัดเป็นโลก เป็นธรรม
และผู้เป็นประธานอีกแผนกหนึ่ง
          คำว่า โลก โดยย่อมี ๓ คือ กามโลก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ที่ยังไม่ปราศจากกามารมณ์ นับแต่สวรรค์ชั้นฉกามาวจร ลงมาถึงมนุษย์ และสัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท ซึ่งมีกามเป็นเจ้าครองโลก จัดว่ากามภพภูมิทั้งนั้น
          รูปโลก ได้แก่พรหมโลก ซึ่งเป็นโลกปราศจากกามารมณ์ด้วยอำนาจแห่งฌานมีพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นเครื่องอยู่ กับมีฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้นประจำใจ ฌานเหล่านี้มีความละเอียดกว่ากันเป็นชั้นตามลำดับ
          และอรูปโลก โลกนี้ก็ให้ชื่อว่าพรหมเหมือนกัน แต่ชั้นนี้เบื่อรูปโลกด้วยมีฌาน ๔ เรียกว่า
อรูปฌาน คือ อากาสานัญจายตนะ เป็นต้น มีความละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ และจะละเอียดกว่ารูปฌานเบื้องต้นด้วย ทั้ง ๓ โลกรวมเข้าด้วยกัน เรียกว่า ไตรโลกหรือไตรภพเป็นที่อยู่ของสัตว์ผู้มีกิเลสเป็นเจ้าครองใจ
          ธรรมแยกโดยย่อยมี ๓ คือ กุศลธรรม ธรรมฝ่ายดี อกุศลธรรม ธรรมฝ่ายชั่ว และอัพยากตาธรรม
ธรรมกลาง ๆ ปราศจากดีชั่ว โลกกับธรรมทั้งสองนี้ ถ้าเป็นสมบัติก็เรียกว่าเรี่ยราด ปราศจากเจ้าของรับผิดชอบชั่วดี
          ฉะนั้นเพื่อให้โลกกับธรรมทั้งสองมีความหมายเด่นชัดขึ้นเต็มที่จึงต้องยกตัวประธานมากำกับ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นสมบัติลอยลมไปเสีย ตัวประธานในที่นี้หมายถึงใจ ใจนี้เป็นธรรมอันหนึ่งซึ่งมองด้วยตาเนื้อและตากล้องไม่เห็น แต่เป็นสิ่งที่สิงอยู่ในกายมนุษย์และสัตว์ทุกประเภท มีความรู้สึกนึกคิดอยู่ภายในกาย จัดเป็นธาตุรู้อันหนึ่งจากกายมนุษย์และสัตว์ แม้จะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากสัมผัสทางอายตนะภายนอกก็ตาม ธาตุรู้อันนี้จะทรงความรู้ไว้เสมอตลอดเวลาทั้งหลับและตื่น ไม่ละความรู้แม้แต่ขณะเดียว ตลอด ๒๔ ชั่วโมงของวัน เดือน ปีที่ผ่านไป แต่ธาตุรู้อันนี้ก็เป็นธาตุรู้ธรรมดา
เฉย ๆ ไม่มีอะไรปรุงก็รู้ เมื่อมีเครื่องปรุงธาตุรู้อันนี้ก็เปลี่ยนสภาพไปตามอารมณ์ทันทีที่มากระทบ ตามแต่อารมณ์จะมีความหมายไปอย่างไร เช่นอายตนะภายนอกมีรูปเป็นต้น มากระทบอายตนะภายใน มีตาเป็นต้น ธาตุรู้นั้นจะกระเพื่อมขึ้นเป็นความรู้ประเภทหนึ่งจากความรู้เดิมทันที คือเป็นความรู้ซ้อน ๆ กันขึ้นมาเป็นพัก ๆ มีลักษณะให้รักบ้างชังบ้าง เพลินบ้างโศกบ้าง แฝงขึ้นมาทันที ความจริงแล้วไม่ใช่ธาตุรู้เดิม แต่อาศัยธาตุเดิมเกิดขึ้น ฉะนั้นสิ่งทั้งนี้จึงเกิดได้ดับได้ไม่แน่นอน ตกอยู่ในไตรลักษณ์สาม คือ อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเมื่อหลงตามก็ลำบาก อนัตตาเป็นไปตามสภาพของสภาวะทั้งหลาย ลักษณะทั้งนี้แล้วแต่สิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เป็นไป
          เราจะทราบความรู้เดิมกับความรู้แทรกได้ชัด ในเวลาหลับกับเวลาตื่น เวลากระทบอารมณ์กับเวลาปกติจิต คนมีสติธรรมดากับคนที่ได้รับการอบรมทางด้านจิตใจจนได้รับความสงบ และคนที่มีภูมิธรรมอันละเอียด กับท่านผู้มีสติวินัย คือพระอรหันต์ ทั้ง ๆ ที่ธาตุความรู้เดิมมีอยู่ในบุคคลทั่วไปไม่แปลกต่างกัน แต่อาการของความรู้เดิมจะค่อยเปลี่ยนสภาพในตัวเอง จากการอบรมธรรมเป็นขั้น ๆ จากขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด ในที่สุดจะไม่ปรากฎอาการรักชัง เป็นต้น เหลืออยู่ในธาตุรู้เดิมของผู้ปฏิบัติอบรมใจด้วยธรรมนั้นเลย อาการทั้งนี้จะพึงทราบจากบุคคลซึ่งได้รับการอบรมมาเป็นลำดับ และนักสังเกตจิต
          ธาตุรู้ซึ่งให้นามว่า "จิต" นี้ ทรงไว้ซึ่งความรู้คือหลับก็รู้ หลับสนิทก็รู้ ตื่นก็รู้ และฝันเรื่องอะไรก็รู้
กระทบอารมณ์ซึ่งจะเป็นเหตุให้ดีใจเสียใจก็รู้ รับรู้ไว้หมดไม่ลำเอียง กิริยาที่ลำเอียงเป็นธาตุแทรก หรือความรู้ที่แทรก ความรู้เดิมนี้ถ้าเปรียบเทียบเหมือนเหล็กหรือเงินทองทั้งดุ้นซึ่งยังไม่ได้ถลุงหรือเจียระไน ให้เป็นของควรแก่เครื่องประดับที่จะพึงซื้อขาย หรือใช้ประโยชน์ได้ตามความนิยม จะยังใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เพราะยังไม่ได้รับการอบรมให้ควรแก่เหตุ เหมือนทารกซึ่งยังไม่รู้เดียงสา แม้จะถูกน้ำร้อนหรือไฟไหม้ก็จะรู้สึกแต่ความเจ็บปวดเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่รู้วิธีจะหาทางออกจากอันตรายให้พ้นภัยไปได้
          ความรู้เดิมนี้เป็นธรรมชาติที่ไม่รู้จักดับ แต่สิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า กิเลสยังมีอยู่ตราบใด ก็เป็นเหตุให้ท่องเที่ยวไปตามกระแสของวัฏฏะตราบนั้น หมุนไปเวียนมา ออกจากร่างนี้ เข้าสู่ร่างนั้น ซึ่งให้นามว่า เกิด ตาย









วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

2. VDO สวดมนต์ "บทสวด โพชฌังคปริตร"

บทสวดมนต์

โพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งโพธิหรือองค์แห่งโพธิญาณ
เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา



บทสวด โพชฌังคปริตร
โพชฌังคปริตรมีความเป็นมาอย่างไร

โพชฌงค์เป็นหลักธรรมหมวดหนึ่งที่อยู่ในบทสวดมนโพชฌังคปริตร ถือเป็นพุทธมนต์ที่ช่วยให้คนป่วยที่ได้สดับตรับฟังธรรมบทนี้แล้วสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ ที่เชื่ออย่างนี้เพราะมีเรื่องในพระไตรปิฎกเล่าว่า พระสัมมาสัมพุทธเจา้ได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหากัสสปะที่อาพาธ พระองค์ทรงแสดงสัมโพชฌงค์แก่พระมหากัสสปะ พบว่าพระมหากัสสปะสามารถหายจากโรคได้ อีกครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมบทนี้แก่พระโมคคัลลานะซึ่งอาพาธ หลังจากนั้น พบว่า พระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธได้

ในที่สุด เมื่อพระพุทธองค์เองทรงอาพาธ จึงตรัสให้พระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ถวาย ซึ่งพบว่าพระพุทธเจ้าก็หายประชวร

พุทธศาสนิกชนจึงพากันเชื่อว่า โพชฌงค์นั้น สวดแล้วช่วยให้หายโรค ซึ่งในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นธรรมเกี่ยวกับปัญญา เป็นธรรมชั้นสูง ซึ่งเป็นความจริงในเรื่องการทำใจให้สว่าง สะอาดผ่องใส ซึ่งสามารถช่วยรักษาใจ เพราะจิตใจมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับร่างกาย เนื่องจากกายกับใจเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน

หลักของโพชฌงค์เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปซึ่งไม่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น
เพราะโพชฌงค์แปลว่าองค์แห่งโพธิหรือองค์แห่งโพธิญาณ
เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา
โพชณังคปริตร เป็นบทสวดประเภทสัจกิริยา แปลว่า การตั้งความสัตย์ หรือสัจจาธิษฐาน แปลว่า การอธิษฐานในใจโดยอ้างสัจจะ ดังนั้น การสวดจะมีผลต่อการรักษาโรค หัวใจของบทสวด คือมีศรัทธาเชื่อมั่นว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้โพชฌังคปริตรรักษาพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสะปะให้หายจากอาพาธ และทรงให้พระจุนทะสวดถวายรักษาอาการประชวรของพระองค์หายได้จริง เมื่อเชื่อมั่นอย่างนี้ ขณะกล่าวคำสวด และใจของผู้สวดตรงกันเป็นความจริงแล้วจึงเกิดปีติความอิ่มเอิบใจ เมื่อมารวมกับอานุภาพของพระรัตนตรัยย่อมเกิดเป็นพระพุทธมนต์อันยิ่งใหญ่รักษาโรคให้หายได้
โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
โพชฌงค์ ๗ ประการ คือสติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์

วิริยัมปีติ ปัสสัทธิ โพชฌังคา จะตะถาปะเร
วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สะมาธุเปกขะโพชฌังคา  สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์

สัตเตเต สัพพะทัสสินา มุนินา สัมมะทักขาตา
๗ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว

ภาวิตา พะหุลีกะตา  อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว

สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะโพธิยา
ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้และเพื่อนิพพาน

เอเตนะสัจจะวัชเชนะ  ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้

โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา 
ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

เอกัสมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะกัสสะปัง คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา
ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้าทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นไข้ได้รับความลำบาก

โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง

เต จะ ตัง อะภินันทิตวา  ท่านทั้งสองนั้นชื่นชมยินดียิ่ง ซึ่งโพชฌงคธรรม

โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ  ก็หายโรคได้ในบัดดล

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ  ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้

โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา 
ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

เอกะทา ธัมมะราชาปิเคลัญเญนาภิปีลิโต
ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเอง(พระพุทธเจ้า)ทรงประชวรเป็นไข้หนัก

จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตวานะสาทะรัง
รับสั่งให้พระจุนทะเถระกล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแลถวายโดยเคารพ

สัมโมทิต์วา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิฐานะโส
ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัยหายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ  ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้

โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา 
ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิมะเหสินัง
ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ องค์นั้นหายแล้วไม่กลับเป็นอีก

มัคคาหะตะกิเลสาวะปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้วถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ  ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้

โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา 
ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

3. บทสวดมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ



หนึ่งเดียวในจักรวาล มนุษย์อาจค้นได้
แต่สิ่งที่เหนือจักรวาล ใครละจะเป็นผู้ค้นพบ

โลกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล
แต่สิ่งที่อยู่เหนือโลก และจักรวาล คือ ธรรมชาติ
ซึ่งมีอยู่ เป็นอยู่ คู่กับโลกตลอดอนันตกาล
ธรรม ซึ่งเป็นของคู่กันกับโลกย่อมแยกกันไม่ออก
ดังนั้นโลกได้กำเนิดผู้กำเนิดผู้มีบุญบารมีที่จะค้นพบธรรมชาตินี้
โดยอาศัยหลักในการดำเนินคือทางเดิน
ซึ่งมีองค์ประกอบที่ทุกคนจะก้าวไปให้ถึงหลักธรรมชาตินี้
อันได้แก่ ละชั่ว ทำดีโดยอาศัยหนทางที่จะนำพาไปถึงได้
หลักธรรมชาตินี้ต้องอาศัยจิตเป็นผู้นำทาง
โดยมี ทาน ศีล ภาวนา
เป็นทางเดินเพื่อจะปูพื้น ขัดเกลา เปลี่ยนแปลงจิตเดิมของสัตว์โลก
คือ สัตว์ทุกชนิด รวมทั้งมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง

หลักการปฏิบัติเพื่อจะเข้าถึงธรรมชาตินี้คือ ทาน ศีล ภาวนา
ทาน คือ การเสียสละ มีเมตตา ไม่เห็นแก่ตัว ให้รักคนอื่นเสมือนรักตนเอง
ศีล คือ เจตนางดเว้นในการทำชั่วทางกายวาจาใจ
ภาวนา คือ การแสวงหาความสงบทางจิต เพื่อเข้าถึงธรรมชาติ


การหมุนวงล้อแห่งพระธรรม




พุทธโอวาทของพระพุทธเจ้า 

ดูกรสุภัททะ  ถ้าภิกษุ
หรือใครก็ตามจะพึงอยู่โดยชอบ
ปฏิบัติดำเนินตามมรรคอันประเสริฐ  ประกอบด้วยองค์แปดนี้อยู่ 
โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์
ดูกรสุภัททะ  อริยมรรค 
ประกอบด้วยองค์แปดเป็นทางประเสริฐ 
สามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้
ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่เป็นทางเดินไปสู่อมตะ

"โลกอันอวิชชาปิดบัง และไม่แจ่มแจ้ง
โลกย่อมติดเพราะความอยาก
มีประการต่าง ๆ
หลุดเพราะกำจัด"



"ผู้มีขันติ ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ ทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่น
ผู้มีขันติ ชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และนิพพาน
ขันติ ย่อมตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้น
ผู้มีขันติชื่อว่าย่อมขุดรากแห่งความติเตียนและการทะเลาะกันได้
ผู้มีขันตินับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ
ผู้มีขันติเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา
และผู้มีขันติ ชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยบูชาอันยิ่ง
ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ
กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญเพราะขันติเท่านั้น
ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ ขันติเป็นตบะของผู้พากเพียร
ขันติเป็นกำลังของนักพรต ขันตินำประโยชน์สุขมาให้
ความบริสุทธิ์ก็ดี ผู้ที่จะประเสริฐล้วนก็ดี ขันติและโสรัจจะก็ดี
จะเป็นผู้เย็นสนิทก็ดี ย่อมไม่มีเพราะการชำระล้าง (ด้วยน้ำ)
เสนาแม้หมู่ใหญ่ พร้อมด้วยพระราชารบอยู่
ไม่พึงได้ประโยชน์ที่สัตบุรุษผู้มีขันติพึงได้
(เพราะ) เวรทั้งหลายของผู้มีขันติเป็นกำลังนั้น ย่อมสงบระงับ"


...........................



ขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ

ประพันธ์เมื่อราว พ.ศ. 2471 ขณะที่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จำพรรษาอยู่ ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
 ท้ายเรื่องลงชื่อไว้ว่า "พระภูริทัตโต (หมั่น) วัดสระปทุมวันเป็นผู้แต่ง"
อักขรวิธีที่ปรากฎในที่นี้คัดตามอักขรวิธีดั้งเดิมตามที่ปรากฎในต้นฉบับ


 
๏ นะมะถุ สุตัสสะ ปัญจธรรมะขันธานิ ข้าพเจ้าขอ
นอบนอมซึ่งพระสุคต บรมะสาสะดา สักยะมุนี สัมมา
สัมพุทธะเจ้า แลพระนะวะโลกุตตะระธรรม ๙
ประการ แลพระอะริยะสงฆ์สาวก บัดนี้ข้าพะเจ้าจักกล่าว
ซึ่งธรรมะขันธ์ โดยสังเข็บ ตามสติปัญญา ฯ ยังมีท่านคน ๑
รักตัวคิดกลัวทุกข์ อยากได้ศุขพ้นภัยเทียวผายผัน เขาบอก
ว่าศุขมีที่ไหนก็อยากไปแต่เที่ยวหมั่นไปมาอยู่ช้านาน
นิศรัยท่านนั้นรักตัวกลัวตายมาก อยากจะพ้นแท้ๆ
เรื่องแก่ตาย วันหนึ่ง ท่านรู้จริงทึ่งสมุทัยพวกสังขาร
ท่านก็ปะถ้ำสนุกสุขไม่หายเปรียบเหมือนดังกายนี้เอง ฯ
ชะโงกดูถ้ำสนุกทุกข์ทลาย แสนสบาย รู้ตัวเรื่องกลัว
นั้นเบา ทำเมินไปเมินมาอยู่น่าเขา จะกลับไปป่าวร้อง
ซึ่งพวกพ้องเล่า ก็กลัวเขาเหมาว่าเปนบ้าบอ สุ้อยู่ผู้
เดียวหาเรื่องเครื่องสงบ เปนอันจบเรื่องคิดไม่ติดต่อ
ดีกว่าเทียวรุ่มร่ามทำสอพลอ เดี่ยวถูกยอถูกติเปนเรื่อง
เครื่องรำคาน ฯ ยังมีบูรุศคน ๑ คิดกลัวตายน้ำไจฝ่อ
มาหาแล้วพูดตรงๆ น่าสงสาร ถามว่าท่านพากเพียนมา
ก็ช้านาน เห็นธรรมที่จริงแล้วหรือยังที่ไจหวัง เอ้ะทำไม
จึงรู้ไจฉัน บูรุศผู้นั้นก็อยากอยู่อาไสย ท่านว่าดีๆ ฉันอะ
นุโมทะนา จะพาดูเขาไหญ่ถ้ำสนุกทุกข์ไม่มี คือกายะคะ
ตาสติภาวะนา ชมเล่นไห้เย็นไจหายเดิอดร้อน หนทาง
จรอะริยะวงศ์ จะไปหรือไม่ไปฉันไม่เกณฑ์ ไช่หลอกเล่น
บอกความไห้ตามจริง แล้วกล่าวปฤษณาท้าไห้ตอบ
ปฤษณานั้นว่า ระวิง คืออะไร ตอบว่าวิ่งเร็วคือวิญญาณอาการ
ไจ เมินเปนแถวตามแนวกัน สัญญาตรงไม่สงไสย
ไจอยู่ไนวิ่งไปมา สัญญาเหนียวพายนอกหลอกลวงจิตร
ทำไห้คิดวุ่นวายเทยี่วส่ายหา หลอกเปนธรรมต่างๆ
อย่างมายา ถามว่าห้าขันธ์ ไครพ้นจนทั้งปวง แก้ว่า
ไจซิพ้นอยู่คนเดียว ไม่เกาะเกี่ยวพั่วพันติดสิ้นพิษหวง
หมดที่หลงอยู่เดียวดวง สัญญาลวงไม่ได้หมายหลง
ตามไป ถามว่าที่ตายไครเขาตายที่ไหนกัน
แก้ว่าสังขารเขาตายทำลายผล ถามว่าสิงไดก่อไห้ต่อ
วน แก้ว่ากลสัญญาพาไห้เวียน เชื่อสัญญาจึงติดนึก
ยินดี ออกจากภพนี้ไปภพนั้นเที่ยวหันเหียน เลย
ลืมจิตรจำปิดสนิดเนียน ถึงจะเพียนหาธรรมก็ไม่เห็น
ถามว่าไครกำหนดไครหมายเปนธรรม แก้ว่าไจกำหนด
ไจหมายเรืองหาเจ้าสญญานั้นเอง คือว่าดีคว้าชั่วผลักติดรักชัง
ถามว่ากินหนเดียวไม่เทียวกิน แก้ว่าสิ้นอยากดูไม่รู้หว้ง ไนเรื่องเหน
ต่อไปหายรุงรัง ไจก็นั่งแท่นนิ่งทิ้งอาลัย ถามว่าสระสี่เหลี่ยมเปี่ยม
ด้วยน้ำ แก้ว่าธรรมสิ้นอยากจากสงสัย สอาดหมดราคีไม่มีภัย
สัญญาไนนั้นภาค สงขาระขันธ์นั้นไม่กวน ไจจึงเปี่ยมเต็มที่ไม่
มีพร่อง เงียบระงับดวงจิตไม่คิดครวญ เปนของควรชมชื่นทุกคืน
วัน แม้ได้สมบัติทิพสักสิบแสน ก็ไม่เหมือนรู้จริงทิ้งสงขาร
หมดความอยากเป็นยิ่งสิ่งสำคัญ จำอยู่ส่วนจำไม่ก้ำเกิน ไจไม่เพิลน
ทั้งสิ้นหายดี้นรนเหมือนดังว่ากระจกส่องหน้าแล้วอย่าคิด ติดสัญญา
เพระว่าสัญญานั้นเหมือนดังเงาอย่าได้เมาไปตามเรื่องเครื่องสังขาร
ไจขยับจับไจที่ไม่ปน ไหวส่วนตนรู้แน่เพระแปรไป ไจไม่เที่ยว
ของไจไช่ต้องว่า รู้ขันธ์ห้าต่างชะนิดเมื่อจิตรไหว แต่กอนนั้น
หลงสญญาว่าเป็นไจ สำคัญว่าไนว่านอกจึงหลอกลวง คราวนี้ไจ
เปนไหญ่ไม่หมายพึ่ง สัญญาหนึ่งสัญญาไดมิได้หวง เกิดก็ตาม
ดับก็ตามสิ่งทั้งปวง ไม่ต้องหวงไม่ต้องกันหมู่สัญญา เปียบเหมือน
ขึ้นยอดเขาสูงแท้แลเหนดินแลเหนสิ้นทุกตัวสัตว์
แก้ว่า สูงยิ่งนัก แลเหนเรื่องของตนแต่ต้นมา เป็นมรรคา
ทั้งนั้นเช่นบันได ถามว่านี้ขึ้นลงตรงสัจจังนั้นหรือ ตอบว่าสังขาร
แปรแก้ไม่ได้ ธรรมดากรรมแต่งไม่แกล้งไคร ขึ้นผลักไสจับต้อง
ก็หมองมัวชั่วไนจิตร์ ไม่ต้องคิดขัดธรรมดาสภาพสิ่งเป็นจริง ฯ
ดีชั่วตามแต่เรื่องของเรื่องเปื้ลองแต่ตัว ไม่พัวพันสังขาร
เปนการเย็น รู้จักจริงต้องทิ้งสังขารที่ผันแปรเมื่อแลเหน
เบื่อแล้วปล่อยได้คร่องไม่ตองเกณฑ์ ธรรมก็ไจเย็นไจระงับ
รับอาการ ถามว่าห้าน่าที่มีครบกัน ตอบว่าขันธ์แบงแจกแยกห้าฐาน
เรื่องสังขาร ต่างกองรับน่าที่มีกิจการ จะรับงานอื่นไม่ได้เต็มไนตัว
แม้ลาภยศสรรเสริญเจริญสุข นินทาทุกข์เสื่อมยศหมดลาภทั่ว
รวมลงตามสาภาพตามเปนจริง ทั้งแปดอย่างไจไม่หันไปพัว
พัน เพระว่ารูปขันธ์ก็ทำแก่ไข้มีได้เว้น นามก็มีได้พักเหมือน
จักรยนตุ์ เพระรับผลของกรรมทีทำมา เรื่องดีพาเพลิดเพลิน
เจริญไจ เรื่องชั่วขุ่นวุ่นจิตร์คิดไม่หยุด เหมือนไฟจุด จิตร์หมอง
ไม่ผ่องไส นึกขึ้นเองทั้งรักทั้งโกรธไปโทษไคร อยากไม่แก่ไม่ตาย
ได้หรือคน เป็นของพนวิไสจะได้เชย เช่นไม่อยากไห้จิตร์เที่ยวคิด
รู้ อยากไห้อยู่เปนหนึ่งหวังพึ่งเฉย จิตร์เป็นของผันแปรไม่แน่เลย
สัญญาเคยอยู่ได้บ้างเปนครั้งคราว ถ้ารู้เท่าธรรมะดาทั้งห้าขันธ์
ไจนั้นก็ขาวสอาดหมดมลทีนสิ้นเรื่องราว ถ้ารู้ได้อย่างนี้จึงดียิ่ง
เพราะเหนจริงถอนหลุดสุดวิถี ไม่ฝ่าฝืนธัมมะดาตามเปนจริง
จะจนจะมีตามเรื่องเครื่องนอกไน ดีหรือชั่วต้องดับเรื่อนรับไป
ยึดสิ่งได้ไม่ได้ตามไจหมาย ไจไม่เที่ยงของไจไหววิบวับ
สงเกดจับรู้ได้สบายยี่ง เล็กบังไหญ่รู้ไม่ทัน ขันธ์บัง
ธรรมมิดผิดที่นี่ มัวดูขันธ์ธรรมไม่เหนเปนธุลีไป สวนธรรม
มีไหญ่กว่าขันธ์นั่นไม่แล ถามว่ามีไม่มีไม่มีมี นี้คืออะไร
ทีนี้ติดหมดคิดแก้ไม่ไหว เชิญชี้ไห้ชัดทั้งอรรถแปล
โปรดแก้เถิด ที่ว่าเกิดมีต่างๆ ทั้งเหตุผล แล้วดับ
ไม่มีชัดไช่สัตว์คน นี่ข้อต้นมีไม่มีอย่างนี้ตรง
ข้อปลายไม่มีมีนี้เปนธรรม ที่ลึกล้ำไครพบจบประสงค์
ไม่มีสังขารมีธรรมทีหมั่นคง นั่นและองค์ธรรมเอก
วิเวกจริง ธรรมเปน ๑ ไม่แปรผัน เลิศภพสงบ
ยิ่ง เปนอารมณ์ของไจไม่ไหวตีง ระงับยิ่งเงียบสงัด
ชัดกับไจ ไจก็ส่างจากเมาหายเร่าร้อน ความอยาก
ถอนได้หมดปลดสงสัย เรื่องพัวพันขันธ์ ๕ ซาสิ้นไป
เครื่องหมุนไนไตรจักร์ก็หักลง ความอยากไหญ่ยิ่ง
ก็ทิ้งหลุด ความรักหยุดหายสนิทสิ้นพิษหวง
ร้อนทั้งปวงก็หายหมดดังไจจง ฯ เชิญเถิดชี้อีกอย่างหน
ทางไจ สมุทัยของจิตร์ที่ปีดธรรม แก้ว่าสมุทัยกว้าง
ไหญ่นัก ย่อลงก็คือความรัก บีบไจอาลัยขันธ์ ถ้าธรรม
มีกับจิตร์เป็นนิจจ์นิรันตร์ เปนเลิกกันสมุทัยมิได้มี จงจำ
ไว้อย่างนี้วิธีจิตร์ ไม่ตองคิดเวียนวนจนป่นปี้ ธรรม
ไม่มีอยู่เปนนิตย์ติดยีนดี ไจตกที่สมุทัยอาลัยตัว
ว่าอย่างย่อทุกข์กับธรรมประจำจิตร อวนคิดรู้เหนจริง
จึงเย็นทั่ว จะศุกข์ทุกข์เท่าไรมิได้กลัว ส่างจาก
เคริองมัวคือสมุทัยไปที่ดี รู้เท่านี้ก็คลายหายร้อน พอพัก
ผ่อนสืบแสวงหาทางหนี จิตรรู้ธรรมลืมจิตรที่ติดธุลี ไจรู้ธรรม
ที่เป็นสุขขันธ์ทุกข์แท้แน่ประจำ ธรรมคงธรรม ขันธ์คงขันธ์เท่านั้น
และคำว่าเย็นสบายหายเดือดร้อน หมายจิตถอนจากผิดที่ติดแท้
แต่ส่วนสังขาระขันธ์ปราศจากศุขเปนทุกข์แท้ เพราะตองแก่ไข้ตาย
ไม่วายวัน จิตรรู้ธรรมที่ล้ำเลิศ จิตก็ถอนจากผิดเครื่อง
เส้าหมองของแสลง ผิดเปนโทษของไจอย่างร้ายแรง
เหนธรรมแจงถอนผิดหมดพิษไจ จิตเหนธรรมดีล้นที่
พ้นผิด พบปะธรรมเปิ้ลองเครื่องกระสัน มีสติอยู่ไน
ตัวไม่พัวพัน เรื่องรักขันธ์หายสิ้นขาดยีนดี สิ้นธุลีทั้งปวง
หมดห่วงไย ถึงจะคิดก็ไม่ห้ามตามนิสรัย
เมื่อไม่ห้ามกลับไม่ฟุ้งพ้นยุงไป พึงรู้ได้ว่าบาปมีขึ้นเพระ
ขืนจริง ตอบว่าบาปเกิดได้เพระไม่รู้ ถ้าปิดประตูเขลา
ได้สบายยิ่ง ชั่วทั้งปวงเงียบหายไม่ไหวติง ขันธ์ทุกสิ่งย่อม
ทุกข์ไม่ศุขเลย แต่ก่อนข้าพะเจ้ามืดเขลาเหมือนเข้าถ้ำ อยาก
เหนธรรมยึดไจจะไห้เฉย ยึดความจำว่าเป็นไจหมายจนเคย
เลยเพลินเชยชมจำทำมานาน ความจำผิดปิดไจไม่ไห้เหน
จึงหลงเล่นขันธ์ห้าหน้าสงสาร ไห้ยกตัวอวดตนพ้นประ
มาณ เที่ยวระรานติคนอื่นเป็นพื้นไปไม่เปนผล เที่ยวดู
โทษคนอื่นนั้นขื่นไจเหมือนก่อไฟเผาตัวต้องมัวมอม ไครผิด
ถูกดีชั่วก็ตัวเขา ไจของเราเพียนระวงตั้งถนอม อย่าไห้อะกุ
สลวนมาตอม ควรถึงพรอมบุญกุสลผลสบาย เหนคนอื่นเขาชั่วตัว
ก็ดี เปนราคียึดขันธ์ที่มั่นหมาย ยึดขันธ์ตองร้อนแท้เพระ
แก่ตาย เลยชำร้ายกิเลศกลุ้มเข้ารุมกวน เต็มทั้งรักทั้งโกธ
โทษประจักษ์ ทั้งกลัวนักหนักจิตรคิดโหยหวน ซ้ำอารมณ์ถาม
ห้าก็มาชวน ยักกระบวนทุกอย่างต่างๆ ไป เพระยึดขันธ์
ทั้ง ๕ ว่าของตน จึงไม่พนทุกข์ภัยไปได้นา ถ้ารู้โทษของ
ตัวแล้วอย่าชาเฉย ดุอาการสงขารที่ไม่เทียงร่ำไปไห้ไจเคย
คงได้เชยชมธรรมะอันเอกวิเวกจิตร ไม่เที่ยงนั้นหมายไจ
ไหวจากจำ เหนแล้วย้ำดูๆ อยู่ที่ไหว พออารมณ์นอก
ดับระงับไป หมดปรากฏธรรมเหนธรรมแล้วย่อมหายวุนวาย
จิตรๆ นั้นไม่ติดคู่ จริงเท่านี้หมดประตู รู้ไม่รู้อย่างนี้
วิธีไจ รู้เท่าที่ไม่เที่ยง จิตรต้นพ้นริเริ่ม คงจิตรเดิมอย่าง
เที่ยงแท้ รู้ต้นจิตรพ้นจากผิดทั้งปวงไม่ห่วง ถ้าออกไปปลาย
จิตผิดทันที คำที่ว่ามืดนั้นเพระจิตรคิดหวงดี จิตรหวงนี้
ปลายจิตคิดออกไป จิตต้นดีเมื่อธรรมะปรากฏหมาดสงสย
เหนธรรมะอันเลิศล้ำโลกา เรื่องคิดค้นวุนหามาแต่ก่อน ก็เลิก
ถอนเปื้ลองปลดได้หมดสิ้น ยังมีทุกข์ต้องหลับนอนกับกิน
ไปตามเรื่อง ไจเชื่องชิดต้นจิตรคิดไม่ครวญ ธรรมะดาของจิตร
ก็ต้องคิดนึก พอรู้สึกจิตต้นพ้นโหยหวน เงียบสงัดจากเรื่อง
เครื่องรบกวน ธัมมะดาสงขารปรากฏหมดดว้ายกัน
เสื่อมทั้งนั้นคงที่ไม่มีเลย ระวังไจเมื่อจำทำเลีอยด
มักจะเบียดไห้จิตรไปติดเฉย ไจไม่เที่ยงของไจซ้ำไห้
เคย เมื่อถึงเอยหากรู้เองเพลงของไจ เหมือนดังมายา
ที่หลอกลวง ท่านว่าวิปัสสะนูปะกิเลส จำแรงเพศเหมือน
ดังจริงที่แท้ไม่ไช่จริง รู้ขึ้นเองหมายนามว่าความเห็น
ไม่ไช่เช่นฟังเข้าไจชั้นไต่ถาม ทั้งตรึกตรองแยกแยะแกะ
รู้ปนาม ก็ไช่ความเหนเองจงเล็งดู รู้ขึ้นเองไช่เพลงคิด
รู้ต้นจิตรๆ จิตรต้นพ้นโหยหวน ต้นจิตรรู้ตัวแน่ว่าสงขาร
เรื่องแปรปรวน ไช่กระบวนไปดูหรือรู้อะไร รู้อยู่เพระหมายคู่
ก็ไม่ไช่ จิตรคงรู้จิตรเองเพระเพลงไหว จิตรรู้ไหว ๆ ก็
จิตรติดกันไป แยกไม่ได้ตามจริงสิ่งเดียวกัน จิตรเปนสอง
อาการเรียกว่าสัญญาพาพัวพัน ไม่เที่ยงนั้นก็ตัวเองไปเล็งไคร
ไจรู้เสื้อมของตัว ก็พ้นมัวมืดไจก็จืดสิ้นรศหมดสงสัย ขาดค้น
คว้าหาเรื่องเครื่องนอกไน ความอาลัยทั้งปวงก็ร่วงโรย ทั้งโกรธ
รักเครื่องหนักไจก็ไปจาก เรื่องไจอยากก็หยุดได้หายหวนโหย
พ้นหนักไจทั้งหลายโอดโอย เหมือนฝนโปรยไจ ไจ่เย็น
เหนดว้ายไจ ไจเย็นเพระไม่ต้องเทียวมองคน รู้จิตรต้น
ปัจจุบันพ้นหวั่นไหว ดีหรือชั่วทั้งปวงไม่ห่วงไย ต้องดับไป
ทั้งเรื่องเครื่องรุงรัง อยู่เงียบๆ ต้นจิตไม่คิดอ่านตามแต่
การของจิตสิ้นคิดหวัง ไม่ตองวุนตองวายหายระวัง
นอนหรือนั่งนึกพ้นอยู่ต้นจิตร ท่านชี้มรรคฟังหลักแหลม
ช่างต่อแต้มกว้างขวางสว่างไสว ยังอิกอย่างทางไจไม่หลุด
สมุทัย ขอจงโปรดชี้ไห้พิศดารเป็นการดี ตอบว่าสมุทัย
คืออาลัยรักเพิลนยิ่งนักทำภพเหม่ไม่หน่ายหนี ว่าอย่างต่ำกามะ
คุณห้าเปนราคี อย่างสูงชี้สมุทัยอาลัยฌาน ถ้าจับตามวิธีมี
ไนจิตร ก็เรื่องคิดเพิลนไปไนสงขาร เพลินทั้งปวงเคยมา
เสียช้านาน กลับเปนการดีไปไห้เจริญจิตไปไนส่วนที่ผิด
ก็เลยแตกกิ่งก้านฟุ้งสร้านไหญ่ เที่ยวเพิลนไปไนผิดไม่คิดเขิน
สิ่งไดชอบอารมณ์ก็ชมเพิลน เพิลนจนเกินลืมตัวไม่กลัวภัย
เพลินดูโทษคนอื่นดื่นดว้ายชั่ว โทษของตัวไม่เหนเปนไฉน
โทษคนอื่นเขามากสักเท่าไร ไม่ทำไห้เราตกนะรกเลย
โทษของเราเส้ราหมองไม่ต้องมาก ส่งวิบากไปตกนะรก
แสนสะหัส หมั่นดูโทษตนไวไหไจเคยเวนเสียซึ่งโทษ
นั้น คงได้เชยชมสุขพ้นทุกข์ภัย เมื่อเหนโทษตนชัด
รีบตัดทิ้ง ทำอ้อยอิ่งคิดมากจากไม่ได้ เรื่องอยากดีไม่
หยุดคือตัวสมุทัย เปนโทษไหญ่กลัวจะไม่ดีนี้ก็แรง
ดีแลไม่ดีนี้เป็นพิษของจิตรนัก เหมือนไข้หนักถูก
ต้องของแสลง กำเริบโรคด้วยพิษผิดสำแลง
ธรรมไม่แจงเพราะอยากดีนี้เป็นเดิม ความอยากดีมี
มากมักลากจิตร ไห้เทียวคิดวุ่นไปจนไจเหิม
สรรพมัวหมองก็ต้องเติม ผิดยิ่งเพิ่มร่ำไปไกลจากธรรมที่จริง
ชี้สมุทัยนี้ไจฉันคร้าม ฟังเนือความไปข้างนุงทางยุงยี่ง
เมื่อชี้มรรคฟังไจไม่ไหวติง รงับนิ่งไจสงบจบกันที ๚๛
อันนี้ชื่อว่าขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะประจำอยู่กับที ไม่มีอาการ
ไปไม่มีอาการมาสะภาวธรรมทีเป็นจริงสิ่งเดียวเท่านั้นและ
ไม่มีเรื่องจะแวะเวียน สิ้นเนือความแต่เพียงเท่านี้ ๚๛
ผิดหรือถูกจงไช่ปัญญาตรองดูไห้รู้เถิด ๚๛ พระภูริทัตโตฯ
(หมั่น) วัดสระปทุมวันเป็นผู้แต่ง ๚๛